ต้นฉบับแปล 138 ภาษาโลก
Manuscripts translated into 138 world languages
PHAYAP pANYATHARO
พุทธศาสนา วันนี้ 1 ส.ค. 2566 รำลึกวันอาสาฬหบูชา
วันทรงยังพระธรรมจักรให้หมุนไป วันทรงแสดงพระปฐมเทศนา ที่ปรากฏผลไปทั่วโลกและแม้สวรรค์ทุกชั้นฟ้า ตั้งแต่ชั้นภุมมะเทวา ถึง พรหมเทวา สูงสุด อันหมายถึงผู้เจริญปัญญาสูงสุดทุกระดับชั้นต่างได้รับทราบข่าวการแสดงพระธรรมปฐมเทศนากันไปทั่วแผ่นดินในวันนั้น
วันที่ทรงแสดงพระปฐมเทศนา ครั้งแรก คือวันเพ็ญเดือน 8 ที่เราชาวพุทธนำมาเป็นวันรำลึกถึงด้วยความบูชานั่นเอง สิ่งที่ทรงแสดงนั้น เป็นความรู้อันเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่อมนุษย์ เป็นเรื่องของมนุษย์ที่ทรงสนพระทัยศึกษามาตั้งแต่ทรงมีพระกำเนิดมา โดยทรงศึกษาจากครูบาอาจารย์ผู้รู้ในเชิงศาสนาโบราณในยุคนั้นมาจนครบหมดทุกวิชาที่มีสอนในยุคพุทธองค์นั้น จนได้พบว่า ยังไม่มีความรู้ที่บอกไปถึง เรื่องของชีวิตอันสูงสุดที่พ้นทุกข์ ที่พ้นไปจากการเกิด การแก่ การเจ็บ และการ ตายอันเป็นปัญหาที่น่าหวาดสะพึงกลัวของชีวิตไปได้ จึงได้ทรงไปศึกษาต่อด้วยพระองค์เอง ด้วยการใช้ปัญญาวิเคราะห์เรื่องเหตุและผล ของความเป็นไปของชีวิต และได้พบความรู้อันสูงสุด ที่ตอบปัญหาชีวิตมนุษย์ได้ทั้งสิ้น
นั่นคือสุดที่พระองค์ตรัสว่า อริยสัจ 4 นั่นเอง
ทรงแสดงความจริงของชีวิต อันเป็นความจริงสุดประเสริฐ 4 อย่าง จนชื่อว่า ธัมมจักกัปปะวัตตนะสูตร กงล้อแห่งธรรมที่หมุนไปไม่มีใครหยุดยั้งได้ คือความจริง 4 ประการ
1. ทุกข์ :
ทุกข์ของชีวิตที่เห็นง่ายๆ ก็คือ เกิดมาแล้ว หิวโหย ต้องกิน ต้องนอนต้องมีที่อยู่ในที่ปลอดภัย มียารักษาโรค และที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ทุกคน ๆ เกิดมาแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตาย กันทุก ๆ คน ทุก ๆ ชีวิต เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ทรงค้นพบ ในประเด็นสำคัญก็คือทุกข์ มาจากการเกิด แล้วเกิดมาก็ต้องแก่ชราลงไป ต้องเจ็บ และในที่สุด ต้องตายลงไปทุก ๆ ชีวิต ไม่มีใครพ้นเกิด แก่ เจ็บ ตายไปได้เลย จึงเป็นทุกข์อย่างไม่รู้จบสิ้น
2. สมุทัย :
เหตุของทุกข์ หมายถึงปัจจัยตัวการกระทำที่ส่งไปสู่ทุกข์ มีการกระทำสิ่งนี้จึงมีทุกข์ หากไม่มีการกระทำนี้ ก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีการเกิด การตายต่อไปอีก ทั้งนี้ ตามการค้นพบ ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จึงพบเหตุสำคัญของทุกข์ นี่คือความหมายของการค้นพบสิ่งที่มีค่าสูงสุด ที่ไม่มีใครค้นพบมาก่อน นั่นเอง และนั่นก็คือ ทรงค้นพบว่ามีความอยาก 3 อย่างเป็นต้นเหตุให้เกิดมาแล้ว ตาย ตายแล้วเกิดใหม่ แต่เกิดมาไม่พ้นทุกข์เลย
เหตุของทุกข์ หรือตัวต้นเรื่องที่ก่อทุกข์ขึ้นมา ที่พุทธองค์ทรงค้นพบนั้นก็คือตัณหา 3 อย่าง อันเป็นต้นเหตุที่ครบถ้วนสมบูรณ์ หากกวาดล้าง 3 ตัณหาไปได้หมด ก็เข้าสู่สภาวะพ้นทุกข์ได้ จะเป็นบุคคลพิเศษขึ้นมา ผู้ที่พ้นทุกข์ หรือ อริยบุคคล นั้นเอง
2.1 กามตัณหา : ความอยากในรสอร่อยของกาม สัมพันธ์ระหว่างเพศคู่ หรือความรัก พวกกิเลส ราคะ ความใคร่ ความหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กายกันของคน, ในรายละเอียดของกาม จะหมายถึงความยินดีปรีดา ในศิลปะ ดนตรี อันเป็นสากล ทั้งในโลกนี้และในโลกอื่น
2.2 ภวะตัณหา: ความอยากเป็น อยากมี อยากได้ ความอยากมีตัวตน หรือ อีโก้ อยากมีชื่อเสียง อยากเด่นอยากดัง ในเรื่อง อำนาจ ความใหญ่โต มั่งมี อยากมีฐานะตำแหน่ง หรืออำนาจทางการเมืองนั่นเอง ต้องการได้มาเป็นของตน แล้วยึดมั่นถือมั่นว่า ตนเป็นเจ้าของอำนาจไปตลอดกาล ไม่ยอมคิดว่า แท้จริงมันเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่ของเราเลย นี่คือการหลงในภวะตัณหานั่นเอง นำไปสู่ทุกข์ อย่างเจ้าชายสิทธัตถะท่านสละราชบัลลังก์ ความใหญ่มีตัวตนอย่างราชามหาอำนาจ ออกไปเป็นนักบวชธรรมดา ๆ นั้นเอง ตัวอย่างของ ภวะตัณหาที่ถูกทำลายไปในพระหทัยของพระองค์
2.3 วิภวะตัณหา: ความไม่อยากมี ความไม่อยากได้ ความไม่อยากเป็น เป็นตัวเป็นตนของเรา เป็นของเรา ในเรื่องอำนาจน้อย ต้อยต่ำ เรื่องวาสนาบารมีน้อยต้อยต่ำ ในเรื่องความน้อยด้อยค่าทางฐานะ ด้อยทรัพย์สินศฤงคาร สมบัติ ในเรื่องความตกต่ำน้อยด้อยอำนาจ ใหญ่โต มั่งมี ฐานะตำแหน่งต้อยต่ำ ไม่อยากให้เป็นเรา ของเราตัวตนของเรา นำไปสู่การแสวงหาตัวตนอย่างผิด ๆ กลายเป็นโจรปล้นอำนาจ มหาเศรษฐีโจร อันนำไปสู่ตัณหาเพิ่มไปอีก
3. นิโรธ
คือ สภาวะความพ้นทุกข์ ไม่มีทุกข์ ความพ้นทุกข์ อย่างสิ้นเชิง ไม่มีทุกข์เหลือเลย อันเกิดจากการทำลายต้นเหตุแห่งทุกข์ หรือ ทำลายสมุทัยหมดสิ้นลงไปหมด คือทำลายตัณหาทั้ง3 นั้นหมดเกลี้ยงไป เลย ซึ่งสภาวะพ้นทุกข์จะเป็นสิ่งที่เลิศประเสริฐของชีวิตอย่างยิ่ง การไม่มีทุกข์อีกต่อไปนั้น ก็หมายถึงตายแล้ว ไม่มีการเกิดมาอีก และเกิดมาแล้วก็ไม่มี การแก่ การเจ็บ และการตายอีก จบชีวิตในวัฏฏสงสารลงไป นี่จึงมีความหมายเดียวกับ โลกนิพพาน หรือ โลกุตตระ ในศาสนาพุทธ นั่นเอง และโดยรูปธรรม ผู้ที่ทำลายเหตุแห่งทุกข์ไปตามลำดับจะเปลี่ยนสถานะจากปุถุชนไปเป็นอริยบุคคล จะบรรลุสู่ความเป็นอริยบุคคล เริ่มแต่พระโสดาบัน อย่างท่านอัญญาโกณฑัญญะนั้น ตลอดไปจนถึงพระ อรหันต์
อริยสัจธรรมข้อที่ 2 สมุทัย กับ ข้อที่ 3 นิโรธ นี้ แท้จริงก็คือหลักวิทยาศาสตร์ นั้นเอง คือ มีอะไรเกิดขึ้น หรือ เป็นมาอย่างไร นั้น ย่อมเกิดมาจากเหตุ ต้องมีเหตุที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นเสมอไป หากมีผลร้ายเกิดขึ้นมา ก็ต้องตามหาเหตุของมันแล้วทำลายเสีย เหตุ ย่อม นำไปสู่ผล เสมอไป อยากได้ผลอะไร ก็ทำเหตุของผลนั้น ต้องไปตามศึกษาหาเหตุนั้น เช่น ณ ที่นี้ เหตุของทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมาด้วยพระองค์เอง ก็ คือตัณหา 3 ประการ เหตุคือ ตัณหา ผล คือทุกข์ เกิดแก่ เจ็บ ตาย หากเราไม่อยากมีทุกข์อีกต่อไป ก็โดยทำลายเหตุของทุกข์นั้น ตามหลักวิทยาศาสตร์นั้นเอง ผลก็จะเกิดขึ้นเอง โดยอัตโนมัติ เข้าสู่ภาวะนิโรธ หรือ นิพพาน โลกุตตระได้ในทันทีที่เหตุสลายหายไปหมดสิ้น ก็อุปมาเหมือนไฟที่ลุกไหม้อยู่ เราดูเชื้อไฟ อันเป็นเหตุ ก็เอาเชื้อไฟออกเสีย ไฟก็ดับลงโดยอัตโนมัติเอง นี่จึงเป็นหลักการของวิชาวิทยาศาสตร์ต่อมา และเป็นสัจธรรมภาคปฏิบัติเพื่อโลกุตตระของพระพุทธศาสนา
และบรรดาพระอรหันต์ ได้ทำการพิศูจน์ สัจธรรมนี้มาตลอด นั่นก็คือ ความเป็นพระอรหันต์ มาจากเหตุที่ถอนเชื้อตัณหาทั้ง 3 ประการหมดไปแล้ว ไม่มีเชื้อไฟอีก ในยุคสมัยนี้อันเป้นยุควิทยาศาสตร์ จึงควรมองเห็นความจริง เรื่องทุกข์ เหตุของทุกข์ และน่าจะไม่ปล่อยให้ชีวิตผ่านพ้นไป จงแสวงหาประโยชน์ จากหลักการสมุทัย และ นิโรธนี้ โดยมองเห็นเหตุของอันตราย หรือความทุกข์ของชีวิต คือตัณหาทั้ง 3 ประการนั้น เป็นเชื้อไฟ เพียงเอาเชื้อไฟ คือตัณหาออกไปเสียเท่านั้นเอง ก็จะบรรลุมรรคผล อรหันต์ได้โดยอัตโนมัติ และนั่นคือ สภาวะนิโรธ ความหลุดพ้นไปสู่โลกนิพพาน นิรันดร นั่นเอง
รูปธรรมของนิโรธนั้นคืออะไร ก็คือ มีพระอริยบุคคลบังเกิดขึ้น ตามลำดับชั้นไปตามการหลุดพ้น ซึ่งมี 8 ระดับชั้น นับแต่ พระโสดาบันมรรค โสดาบันผล, สกิทาคามีมรรค สกิทาคามีผล, อนาคามีมรรค อนาคามีผล, และ อรหันตมรรคและ อรหันตผล, ซึ่งในยุคสมัยนี้ คนเราเป็นนักวิทยาศาสตร์จึงน่าจะลองฟังหลักอริยสัจ 4 ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นหลักวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเหตุและผลอย่างสมบูรณ์ นั่นก็คือ มีการปฏิบัติตน ค้นหาเหตุของทุกข์ และตั้งใจทำลาย ล้างเหตุแห่งทุกข์เสีย นั่นก็ที่พุทธองค์ทรงค้นพบมาแล้ว พิศูจน์มาแล้ว จงฆ่าสังหาร ตัณหาทั้ง 3 เสีย ด้วยวิธีการใดก็ได้ ตามหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง คุณก็บรรลุอรหันต์โดยอัตโนมัติ เป็นอริยบุคคลระดับอรหันต์ได้เองทันที และจะรู้ว่านั่นเป็นรางวัลอันแสนประเสริฐล้ำเลิศของชีวิต ที่เกิดมาไม่เสียเปล่าจากการได้พบพระพุทธศาสนา
4. มรรค
เป็นหลักปฏิบัติที่ทรงรวม 2 ความหมายเข้าด้วยกันคือ
(1.) มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ที่บอกความหมายทางปฏิบัติสำหรับคนทั้งหลาย ทั่ว ๆ ไป ไม่จำกัดว่าเป็นชาติ ศาสนาใด และบอกถึงฆราวาส ญาติโยมทั้งหลายปฏิบัติถึงมรรคผลนิพพานได้ ไม่จำกัดเฉพาะสงฆ์สาวกเท่านั้น
(2.) หลักปฏิบัติ 8 ข้อ ที่เป็นข้อเดียวกันชื่อเดียวกัน กับทั้งหลักมัชฌิมาปฏิปทา และหลักมรรค8 ที่ให้ความหมายถึงหลักทุกขะนิโรธะคามินีปะฏิปทา คือทางปฏิบัติเพื่อถึงที่สุดแห่งความพ้นทุกข์ ที่เมื่อปฏิบัติแล้ว แต่ละข้อ ทั้ง 8 ข้อได้ถูกต้องแบบมีสัมมาปฏิบัติแล้วย่อมบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติแนวทางปฏิบัติอื่น ซึ่งหลัก มรรค 8 นี้แหละนับว่าเป็นหลักปฏิบัติสากล สำหรับโลกยุคนี้ เพื่อการรู้แจ้งทุกข์ และวิธีการทำลายเหตุแห่งทุกข์ของคนทั้งหลาย ประพฤติในชีวิตประจำวัน ของคนยุคใหม่ โดยปฏิบัติให้ถูกต้องในแต่ละข้อ ไม่ผิดเลย ก็จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้ นั้นก็คือ
4.1 สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หมายถึงต้องเข้าใจสัจธรรมมรรคผลนิพพาน ประการสำคัญคือ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ต้องอย่าหวังพึ่งเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องเข้าใจสัจธรรมเรื่องกรรม สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมเท่านั้น ไม่มีเทพเจ้า ไม่มีพระเจ้าใดใด จะช่วยบันดาลให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตลอดเวลาของชีวิต ต้องไม่คลาดไปจากแนวความคิดนี้ จนกระทั่ง พบความเข้มแข็งแห่งตนเป็นที่พึ่งแห่งตน สำเร็จด้วยตนทุกอย่าง พิศูจน์ชัยชนะของชีวิตด้วยพลังของตนเองแท้ ๆ นั้นแหละบรรลุมรรคผลได้ในวันหนึ่ง วันที่ได้พบว่า ตนแลเอาชนะตนเองได้ ในเรื่องมรรคผลนิพพานนั้นแหละตนเองต้องทำเอาเองจริง ๆ แม้พระพุทธเจ้าก็ช่วยเราไม่ได้ ต้องสร้างปัญญาขึ้นมาด้วยตนเองให้ได้
4.2 สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ทำความดำริหรือความคิด จินตนาการให้ถูกต้องพุทธธรรมตลอดไป นั่นคือ ความดำริเรื่องชีวิต ชีวิตจะต้องสะอาด สว่างและสงบ จิตใจเราจะต้องเข้มแข็ง และเป็นนักรบ ที่ไม่มีคำว่า แพ้ เป็นทาส ของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ต้องต่อสู้เอาชนะตัณหาอุปาทาน ไม่ให้มีความพ่ายแพ้เลยในชีวิตนี้ ปฏิบัติดำริชอบเช่นนั้นไป ไม่วอกแวกไปนอกความดีของสัจธรรม ก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้
4.3 วาจาชอบ ต้องเข้าใจเรื่องวาจา 4 อย่างที่ต้องรักษาไว้ให้ดี นั่นคือ คำหยาบคาย, คำโกหกพกลม, คำส่อเสียดยุแยกให้แตกสามัคคี และ คำเพ้อเจ้อคือไร้เหตุผล ให้วาจาเป็นธรรมทานเสมอไป คำพูดนี้ให้เป็นสัจธรรมเสมอ ให้เป็นการสอนอริยสัจสูงส่ง ให้ความรู้มรรคผลหรือความรู้ที่มีแต่สร้างประโยชน์แก่คนอื่น แก่คนอื่นตลอดไป วันหนึ่งตนเองก็จะรับผลความรู้แจ้ง บรรลุมรรคผลนิพพานได้
4.4 สัมมากัมมันโต ความประพฤติชอบ หรือการงานที่ทำประจำวันนั้นเป็นงานที่สุจริต งานทางความคิดหรือ มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมให้ตรงกัน เสมอ นั่นเป็นการฝึกจิตอย่างละเอียด ทางมรรคผลตรงกันทางความคิด ทางวาจา และทางใจ นั่นคือชีวิตต้อง ซื่อสัตย์เสมอไป กาย วาจา ใจ ตรงกันเสมอ รักษาได้อย่างนี้ ในวันหนึ่ง จิตใจก็จะบริสุทธิ์ ขึ้น และนั่นแหละ มรรคผล นิพพาน จากสัมมากัมมันโตนี้
4.5 สัมมาอาชีโว อาชีพชอบคือทำมาหาเลี้ยงชีพชอบ ตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่ไม่ก่อความเดือดร้อนให้คนอื่น ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น มีหลักอยู่เสมอว่า อาชีพเรานั้น ต้องอยู่บนหลัก เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเสมอไป จงสร้างความอยู่ดีกินดี ความร่ำรวยขึ้นมาจากอาชีพที่สุจริตเสมอ เช่นนี้วันหนึ่งก็ถึงมรรคผลนิพพานไปพร้อมความสำเร็จในอาชีพด้วย นั่นคือ ร่ำรวยขึ้นมาพร้อมบรรลุมรรคผลนิพพานได้
4.6 สัมมาวายาโม ความพยายามชอบ นั้นก็คือ มีความขยัน ไล่ความขี้เกียจออกจากใจให้หมดสิ้นนั่นเอง มองความจริงว่า ความขี้เกียจนั้นแท้จริงคือมารที่ครอบครองดวงจิตของคนทั้งหลาย ที่ปิดกั้นมรรคผลนิพพานนั่นเอง วันใดไล่มารขี้เกียจออกไปหมดจากใจแล้ว วันนั้นก็ใกล้มรรคผลนิพพานเข้าแล้ว
4.7 สัมมาสติ สติชอบ จะหมั่นมองการกระทำของตัวเอง รู้ตัวเองทุกเวลา นาที วินาทีว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราต้องไม่ทำอะไรชั่วเลย ทำแต่ความดี และบริหารดวงจิตอยู่ตลอดเวลา ให้ดวงจิตสะอาดสะอ้าน ดวงจิตบริสุทธิ สงบเยือกเย็น มีสมาธิเสมอ เช่นนี้ไม่นานก็เข้ากระแสมรรคผลนิพพานได้ ในชีวิตวันนี้เอง
4.8 สัมมาสมาธิ คือฝึกสร้างจิตใจให้ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ การฝึกสร้างใจให้มีความตั้งใจแน่วแน่ ในการทำกิจการงานใดใดก็ตาม แม้เริ่มมาตั้งแต่เด็ก ๆ ในการเล่าเรียน ก็ให้ฝึกความตั้งใจเรียน ฝึกสร้างจิตใจให้อดทน ทรหด มาตั้งแต่เด็ก ๆ กล้าต่อสู้อุปสรรคศัตรู กล้าหาญในการต่อสู้กับคนชั่ว ความชั่ว เป็นการต่อสู้ด้วยจิตใจอันเด็ดขาดไม่ยอมแพ้เลย หมั่นฝึกใจให้นิ่งสงบ ให้ได้พบและรู้จักดวงจิตที่นิ่งอันเป็นสัมมาสมาธิระดับต้น ๆ จะเพิ่มพูนพลังสมาธิไปเรื่อย ๆ จนที่สุดใจถึงความสงบเยือกเย็นสงบสงัดนิ่งด็ดเดี่ยวไม่วอกแวกเลย ก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้
จากพระปฐมเทศนา วันอาสาฬหบูชานี้ มีสิ่งที่พุทธองค์ทรงเน้นลงไปว่า การตรัสรู้ อริยสัจ 4 แต่ละข้อ ๆ นั้น ทรงบอกว่า เกิดจาก ปัญญาทั้งสิ้น...(ไม่ได้เกิดจากการบำเพ็ญทุกกรกิริยา ทรมานตนเองเลย) ที่ทรงตรัสว่า มี 5 ประการ เสมอ คือ
1. จักขุง อุทะปาทิ (จักขุ ดวงตาได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา),
2. ญาณัง อุทะปาทิ(การรู้แจ้งได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา),
3. ปัญญา อุทะปาทิ(ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา),
4. วิชชา อุทะปาทิ(วิทยาได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา),
5. อาโลโก อุทะปาทิ(แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา)
นี่เองที่บอกว่า สัจธรรมนั้นสามารถบรรลุได้ด้วยปัญญา คือคำทั้ง 5 คำที่พุทธองค์กล่าวตามกันออกมานั้น แท้จริงก็เป็นความหมายถึงปัญญา อย่างเดียวกันนั้นเอง คือ จักขุง ญานัง ปัญญา วิชชา อาโลโก นั้นคือปัญญา หรือวิชชา หรือตาสว่างนั้นเอง คือการหมั่นใช้ความคิดพิจารณาไตร่ตรองความหมายของถ้อยคำ ที่ซ่อนแฝงสัจธรรมอยู่ ก็จะรู้แจ้งขึ้นมา ที่จะเหมาะสมกับคนยุคใหม่อย่างแท้จริง เพราะเป็นเรื่องของการใช้ความคิด สติปัญญา พากเพียรเรียนรู้ด้วยปัญญา จึงสำเร็จมรรคผล เป็นพระอรหันต์ได้ ตรงความหมายสำคัญ ก็คือ การจะบรรลุอรหันต์ได้นั้น เพียงใช้สติปัญญา อ่านให้รู้แจ้งความหมายในอริยสัจ 4 ให้เข้าใจจริง ๆ ก็บรรลุได้นั่นเอง พุทธศาสนา จึงหมายถึงวิชชา ผู้รู้แจ้ง ทรงปัญญารู้แจ้งโลก นั่นเอง ฉะนั้น แท้จริง คนยุควิทยาศาสตร์ นี้เอง ที่เหมาะแก่การที่จะใช้สติปัญญา ทำการศึกษาอริยสัจ 4 ของพระพุทธองค์ ในวันอาสาฬหบูชานี้ ให้เข้าใจจริงๆเรื่องเหตุและผล ของทุกข์ เรื่องทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เรื่อง มรรค 8 ที่เป็นธรรมะโดยตรงสำหรับคนยุควิทยาศาสตร์นี้ ก็เพื่อตนนั้นเองบรรลุมรรคผลนิพพานขึ้นมาได้ ขอเพียงมีความกล้าหาญ เอาชนะปมด้อยของตนเอง เท่านั้นเอง คนบรรลุโสดาบัน – อรหันต์ จะมีขึ้นพร้อมกันในโลกวันนี้
ขออำนวยพร
-----
@ พุทธศาสนา รำลึกวันอาสาฬหบูชา วันทรงยังพระธรรมจักรให้หมุนไป วันทรงแสดงพระปฐมเทศนา
-----